โครงการ การจัดการทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร “สืบสานโครงการตามพระราชดำริ”
Local Agro – Tourism Trail Planning “Project Inheriting Tour”
ชื่อสถานที่ : สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ที่ตั้ง : 77 หมู่ที่ 6 ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ประเภท : การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการอนุรักษ์
คณะผู้ติดต่อ/ผู้ประสานงาน : สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โทร/โทรสาร 032-593100
ประวัติการก่อตั้งและดำเนินงาน : สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งอยู่ที่ 77 หมู่ที่ 6 ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่อยู่ใกล้กับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เดิมพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงมีราษฎรแผ้วถางพื้นที่ และทำการเกษตรเชิงเดียวต่อเนื่องหลายปี จนที่ดินที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์กลับเสื่อมโทรม ทำให้ประกอบอาชีพเกษตรไม่ค่อยได้ผล เกษตรกรจึงได้ทูลเกล้าถวายที่ดินแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จำนวน 3 แปลง รวม 340 ไร่ แปลงที่ 1 เป็นชื่อใน พระปรมาภิไธย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แปลงที่ 2 ทรงพระราชทานให้หม่อมเจ้าลุอิสาณ์ ดิสกุล และแปลงที่ 3 ทรงพระราชทานให้ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ซึ่งในเวลาต่อ หม่อมเจ้าลุอิสาณ์ ดิสกุล และท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานที่ดินดังกล่าวให้มูลนิชัยพัฒนา และเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม กรมชลประทาน การสร้างเรือนเพาะชำกล้าไม้ และกิจกรรมอื่นๆ ตามความจำเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต การดำเนินงานระยะแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530- 30 กันยายน พ.ศ. 2548 ร่วมพัฒนาสนองแนวพระราชดำริโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริสนับสนุนงบประมาณและบริหารจัดการ โดยมีศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกรมวิชาการเกษตรเป็นที่ปรึกษา
แนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริในวาระต่างๆ ดังนี้
- วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 “ให้พัฒนาพื้นที่สวนสมเด็จฯ เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาประกอบด้วย การชลประทาน สร้างเรือนเพาะชำกล้าไม้ และกิจกรรมอื่นๆ ตามความจำเป็น”
- วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2532 “กิจกรรมที่ดำเนินการในสวนสมเด็จฯ เช่น การเลี้ยงไก่บนบ่อปลา การปลูกพืชแบบผสมผสานระหว่างพืชสวน พืชไร่ ซึ่งมีไม้ผลเป็นหลัก การเพาะเห็ด การเลี้ยงผึ้ง การปลูกพืชสมุนไพร การปลูกไม้ตัดดอก บ่อแก๊สชีวภาพ การทำระบบวนเกษตรนั้น นับว่าดีแล้ว และถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์ที่วางไว้ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้น ควรที่จะให้นักวิชาการและประชาชนเข้ามาศึกษาดูงาน และขยายผลต่อไป”
- วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2539 “การทำการเกษตรในรูปแบบทฤษฎีใหม่ จะให้ดีควรมีแหล่งน้ำไว้เติมได้ เผื่อน้ำไม่พอใช้ แต่รูปแบบที่ทำที่สวนสมเด็จฯ ไม่มีน้ำเติม แต่ก็ควรทำเอาไว้เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง”
- วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 “การทำทฤษฎีใหม่ ต้องสามารถยืดหยุ่นได้ สามารถปรับสัดส่วนการใช้พื้นที่ให้มีความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่มีระบบชลประทานเข้าถึง แปลงทฤษฎีใหม่ก็ทำบ่อเก็บน้ำให้เล็กลงแล้วเพิ่มที่ปลูกไม้ผล พืชไร่ พืชผักแทน ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทาน ก็ต้องทำบ่อเก็บน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะต้องรับน้ำฝนมาเก็บไว้ใช้ทำกินตลอดปี”
“หลักการของทฤษฎีใหม่อยู่ที่ว่าในบริเวณที่ดินต้องมีหลายอย่าง คือ พืชผัก พืชผล ต้นไม้ต่างๆ โดยเฉพาะข้าว และบ่อเก็บน้ำ” โดยจะดำเนินกิจกรรมการปลูกเพื่อการบริโภคในครัวเรือน และมีเครือข่ายเพื่อที่จะไปซื้อในส่วนที่ขาดแคลนหรือในส่วนที่ทำเองไม่ได้ เช่น เสื้อผ้า ยารักษาโรค เป็นต้น
พระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 1 ตุลาคม 2548 ณ แปลงสบู่ดำ สวนสมเด็จฯ
1. ให้กรมชลประทานสำรวจออกแบบ อ่างเก็บน้ำ ด้านหลังสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อแก้ปัญหาน้ำหลาก และเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้ง
2. มะขามป้อมพันธุ์ลูกโตควรขยายพันธุ์ให้มาก และแปรรูปมะขามป้อม
3. ศึกษาความเป็นพิษ และสารก่อมะเร็งจากสบู่ดำให้ชัดเจนเพราะนักวิชาการยังมีความเห็นต่างกัน
- วันที่ 29 มกราคม 2550 ณ แปลงสมุนไพร สวนสมเด็จฯ
1. พันธุ์ไม้ที่มีหลากหลายในโครงการฯ ให้เพาะขยายสู่ชาวบ้าน และชุมชน
2. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ถ้าให้ดีต้องขอ อย.ให้ถูกต้อง
การดำเนินงานตามพระราชดำริ ระยะแรกเป็นการปลูกป่า โดยอาศัยไม้ผลเป็นหลักเพื่อเพิ่มรายได้ และเป็นป่าไม้ ในลักษณะพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2530 – กันยายน พ.ศ. 2548 ดำเนินการโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมวิชาการเกษตร ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้เข้ามาดำเนินการ ดำเนินกิจกรรมที่มีอยู่เดิมเป็นหลัก และมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้เหมาะสมในแต่ละกิจกรรม และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้
- กิจกรรมด้านการเกษตร ได้แก่ ข้าว พืชผักทั้งผักกินใบ กินผล กินยอด-ดอก และกินหัวเหง้า ต้น ไม้ผล (ผลิตผลตลอดปี และผลิตผลตามฤดูกาล) มะพร้าว พืชไร่ระหว่างร่องแถวไม้ผล และเป็นแปลงปลูกแฝกโดยรอบ เพาะเห็ดจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา และวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ไม้ดอกไม้ประดับ และเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ 2 รูปแบบ ได้แก่ ทฤษฎีใหม่อาศัยน้ำฝน และทฤษฎีใหม่ชลประทาน
- กิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พันธุกรรมพืช และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เรือนเพาะชำกล้าไม้ ได้แก่ อบเชย และสมุนไพรต่างๆ แปลงนานาพฤกษสมุนไพร แปลงวนเกษตร แปลงรวมพันธุ์ไม้หอม มะรุมไทย และมะรุมอินเดีย
- กิจกรรมแปรรูปและจัดจำหน่าย ได้แก่ การประกอบอาหารรับคณะศึกษาดูงานโดยใช้ผลผลิตในพื้นที่ การแปรรูปผลผลิตด้านการเกษตร เช่น มะม่วงแช่อิ่ม กระท้อนแช่อิ่ม การแปรรูปน้ำสมุนไพร การแปรรูปสมุนไพร ต่างๆ จำหน่ายในโครงการ และร้านภัทรพัฒน์ เช่น ยาหม่องสมุนไพรต่างๆ น้ำมันไพล พิมเสนน้ำ ลูกประคบแห้ง แท่นประคบ ชาสมุนไพรแบบต่างๆ ผ้าย้อมธรรมชาติ และแชมพูอาบน้ำสุนัข การเผาถ่าน และการสกัดน้ำส้มควันไม้
- กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพแผนไทย จัดสร้างอาคารนวดแผนไทย และได้ให้กลุ่มแม่บ้านที่ผ่านการฝึกอบรมจากสวนสมเด็จฯ ตั้งแต่ปี 2544 เช่าพื้นที่ให้บริการนวดแผนไทย
- กิจกรรมบ้านพักรับรองในปี 2550 ได้ดำเนินการก่อสร้างบ้านพัก เพื่อการศึกษาดูงานจำนวน 4 หลัง ได้แก่ บ้านพิกุล บ้านกันเกรา บ้านกฤษณา และบ้านสารภี เพื่อเป็นที่พักสนับสนุนกิจกรรมด้านสุขภาพ ปัจจุบันใช้เป็นบ้านพักรับรองแก่คณะที่สนใจ และเก็บค่าบำรุงสถานที่
- กิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยี และขยายผล ได้ดำเนินการขยายผลการพัฒนาทั้งภายนอก และภายในโครงการฯ
6.1 การขยายผลกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรในหมู่บ้าน ชุมชน โดยมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสร้างเครือข่ายขยายผล หมู่บ้านฟ้าประทาน ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีเกษตรกรที่สนใจร่วมเครือข่ายการขยายผลจำนวน 13 ครอบครัว
6.2 การขยายผลการถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น การรับคณะดูงาน การฝึกอบรม การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ วิทยากรนอกสถานที่ จัดนิทรรศการเผยแพร่ โดยระหว่างเดือนมกราคม กันยายน การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เป็นเวลา 2 เดือน จำนวน 2 ครั้ง จำนวน 4 คน - การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคม 2553 โครงการฯ ประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำในบ่อในพื้นที่โครงการฯ และขาดน้ำสนับสนุนจากห้วยตะแปด ทำให้มีพืช และสมุนไพรเสียหายจำนวนมาก ทั้งนี้ได้ดำเนินการแก้ปัญหา โดยขอรับการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำเพื่อการอุปโภค และการเกษตรจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ค่ายธนะรัชต์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ค่ายศรียานนท์ จังหวัดเพชรบุรี เทศบาลเมืองชะอำ และองค์การบริหารส่วนตำบลสามพระยา นอกจากนี้ได้ดำเนินการขุดลอกบ่อกักเก็บน้ำภายในโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บ และระบายน้ำในระยะต่อไป ทั้งนี้ในปี 2553
การดำเนินงานในระยะต่อไปแผนการดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
- กิจกรรมการเกษตร
- ดำเนินการขอ GAP พืช 20 ชนิด
- ลดการใช้สารเคมี
- ขยายพันธุ์ไม้ผล เพื่อขยายพื้นที่ปลูกและจำหน่าย
- เน้นการปลูกพืชผสมผสานทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
2. กิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พันธุ์กรรมพืชและสิ่งแวดล้อมขยายพันธุ์พืชสมุนไพรไม้หอม เพื่อการจำหน่าย
3. กิจกรรมแปรรูป และการจัดจำหน่าย
- ก่อสร้างร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และขยายสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์โครงการสู่เอกชน เช่น โรงแรม ร้านอาหารในจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบฯ
- นำสินค้ากลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม OTOP และประชาชนทั่วไป มาจำหน่ายให้หลากหลายมากขึ้น
- แปรรูปผลผลิตการเกษตร และแปรรูปสมุนไพรให้ได้มาตรฐานและถูกต้องตามกฎหมายอาหารและยา
4. กิจกรรมสุขศาลาไทย เปิดให้บริการอบสมุนไพร รวมทั้งจัดรูปแบบการดำเนินกิจกรรมสุขศาลาไทย โดยให้กลุ่มแม่บ้านเช่าพื้นที่ และร่วมดำเนินงาน
5. กิจกรรมบ้านพักรับรองจัดกิจกรรมทัวร์สุขภาพ จัดที่พัก และทำกิจกรรมภายในโครงการ ประชาสัมพันธ์แก่บุคคลภายนอก
6. กิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและขยายผล
- ประชาสัมพันธ์คณะศึกษาดูงานในเชิงรุก
- เพิ่มศักยภาพบุคลากรในการถ่ายทอดแก่คณะศึกษาดูงาน
- ขยายผลการพัฒนาสู่เกษตรกรอย่างน้อย 20 ครัวเรือน
7. กิจกรรมอาคารสถานที่
- ปรับซ่อมแซมถนนที่ชำรุด
- ซ่อมรั้วลวดหนามที่ชำรุด
- จัดทำลานจอดรถรอรับคณะศึกษาดูงาน
- ขุดบ่อกักเก็บน้ำเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บ และระบายน้ำอย่างเป็นระบบรองรับสภาวะแห้งแล้งในระยะยาว
6. กิจกรรมต่างๆ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
6.1 กิจกรรมการเกษตร
– ระบบการปลูกพืชโดยมีผลไม้เป็นหลัก เป็นการจัดระบบการปลูกพืช แบบผสมผสานที่มีอายุลดหลั่นเพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนโดยมีไม้ผลยืนต้นเป็นหลัก
- รูปแบบการทำฟาร์มแบบผสมผสาน เป็นรูปแบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ และเลี้ยงปลา เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีที่ดิน แรงงาน และทุนน้อยแบ่งออกเป็นสภาพที่ลุ่มและสภาพที่ดอน
- เกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ 30:30:30:10 เป็นอัตราส่วนการจัดบ่งพื้นที่อาจเปลี่ยนแปลงไดตามความเหมาะสม 30% แรก แหล่งน้ำ 30% ที่สอง พื้นที่ปลูกไม้ผล พืชไร่ และผัก 30% ที่สาม พื้นที่ปลูกข้าว 10% ที่สี่ ที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และวนเกษตร
- การลดใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น การใช้สมุนไพร กับดักกาวเหนียว น้ำสมควันไม้
- การใช้ประโยชน์หญ้าแฝกในระบบการปลูกพืช เป็นการปลูกหญ้าแฝกร่วมกับไม้ผล พืชผัก ไม้ดอกและตัดใบแฝกเป็นวัสดุคลุมดินเพื่อช่วยรักษาความชื้นและปรับปรุงดินให้อุ้มน้ำดีขึ้น
- การเพาะเห็ดจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นวัสดุจากพืชไร่ ไม้ผล ใบหญ้าแฝก นำมาใช้ในการเพาะเห็ด เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฐาน เห็ดเป๋าฮือ และเห็ดฮังการี
6.2 กิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรมพืช
– วนเกษตรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ 60 พรรษา เป็นการทำการเกษตรร่วมกับป่าโดยไม่ต้องไถพรวน ตัดไม้ทำลายป่า ให้เสื่อมโทรม
– การรวบรวมพันธุ์ไม้หอมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ 60 พรรษา เป็นการรวบรวมพันธุ์ไม้หอมชนิดต่างๆ
– สวนพฤกษศาสตร์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นการรวบรวมพันธุ์ไม้หลายชนิด ทั้งพืช สมุนไพร ไม้หอม และไม้ผล
- สวนนานาพฤกษสมุนไพร เป็นการรวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรกว่า 300 ชนิด
6.3 กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพแผนไทย บริการนวดแผนไทย นวดเท้า อบ และประคบสมุนไพร
6.4 กิจกรรมเพิ่มมูลค่าทางผลผลิต การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น บริการที่พัก ข้าวห่อใบบัว เครื่องดื่มสมุนไพร
6.5 กิจกรรมที่พักเพื่อการศึกษาดูงาน บริการที่พัก กางเต็นท์ บ้านพักท่ามกลางธรรมชาติ
6.6 กิจกรรมถ่ายทอดความรู้และบริการ บริการถ่ายทอดความรู้ ฝึกอบรมสัมมนา จัดนิทรรศการ
6.7 กิจกรรมพิเศษอื่นๆ การปลูกต้นไม้เสริมป่า การจัดค่ายเรียนรู้ ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายลูกเสือ-เนตรนารี และอื่นๆ
แผนที่ และระยะการเดินทาง :
ระยะทางจากกรุงเทพมหานครถึงโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นระยะทาง 177 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
ระยะทางจากเพชรบุรีถึงโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นระยะทาง 51 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 40 นาที
พื้นที่บริเวณของสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ป้ายทางเข้าสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จย่า ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
แผนผังสวนนานาพฤกษสมุนไพร ซึ่งมีการบอกตำแหน่งของแปลงสมุนไพร ชื่อสมุนไพร และที่แต่ละแปลงจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์
“สวนนานาพฤกษสมุนไพร” สวนที่รวบรวมพันธุ์สมุนไพร มากกว่า 300 ชนิด จำแนกตามสรรพคุณได้ 22 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีสรรพคุณทางยาที่แตกต่างกัน
พื้นที่แปลงขยายพันธุ์พืช ภายในโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อใช้ในงานปรับปรุงภูมิทัศน์ของบริเวณต่างๆ และจำหน่ายเป็นรายได้ของโครงการฯ
เตาผลิตน้ำส้มควันไม้ ซึ่งได้ผลผลิต 2 อย่างคือ น้ำส้มควันไม้เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช และถ่านเพื่อจำหน่ายเป็นวัสดุเชื้อเพลิง นอกจากนี้ถ่านจากลูกมะพร้าวและไม้ไผ่ ยังมีการพัฒนาเป็นวัสดุดูดซับกลิ่น
การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในระบบการปลูกพืช เพื่อเก็บความชื้นและปรับปรุงดินให้อุ้มน้ำได้ดี โดยการใช้ใบที่ตัดมาเพื่อคลุมหน้าดิน
“กังหันลม” ใช้สำหรับวิดน้ำเข้านาข้าว
สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว : เนื่องจากสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ภายในโครงการเน้นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มีกิจกรรมต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชม อาทิเช่น กิจกรรมด้านการเกษตร ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม แปรรูปและจัดจำหน่าย เป็นต้น นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมได้ โดยถ้าเป็นการเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อล่วงหน้าเพื่อขอวิทยากรในการบรรยายกิจกรรม หรือ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมด้วยตัวเอง เนื่องจากในทุกฐานกิจกรรม จะมีป้ายแสดงรายละเอียด
เอกสารอ้างอิง
http://www.chaipat.or.th/chaipat/index.php/th/royal-projects-in-various-regions/central/660-2011-03-17-05-03-52 (ค้นเมื่อ 14 สิงหาคม, 2556)
http://www.chaipat.or.th/intranet/project/detail.php?project_id=214 (ค้นเมื่อ 14 สิงหาคม, 2556)
http://www.phetchaburi.go.th/data/kingproject/project_18.htm (ค้นเมื่อ 14 สิงหาคม, 2556)