กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำตาลมะพร้าว บ้านบางหอ

โครงการ การจัดการทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร “สืบสานโครงการตามพระราชดำริ”

Local Agro – Tourism Trail Planning “Project Inheriting Tour”

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำตาลมะพร้าว บ้านบางหอ

 สถานที่ตั้ง : บ้านเลขที่ 19 หมู่ที่ 11 บ้านบางหอ ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 76110

 ประเภทของแหล่งท่องเที่ยว : ผลผลิตทางการเกษตร

 4.คณะผู้ติดต่อ/ผู้ประสานงาน

4.1 คุณสายสุทธิ์ จันทร์เกิด  โทรศัพท์

4.2 คุณอัมพร จันทร์เก โทรศัพท์ 0 32409143 , 08 1293 2183

4.3 กำนันนิพนธ์  วงโกศล โทรศัพท์

 

5.ลักษณะการรวมกลุ่ม :  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต(น้ำตาลมะพร้าว)

 

6.วันและเวลาที่ให้บริการ/เปิดทำการ : ทุกวัน เวลา 8.00-16.00 น. ณ ที่ทำการกลุ่ม

 

7.ประวัติการก่อตั้งและดำเนินงาน

กลุ่มอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวที่บ้านบางหอเกิดจากคนทำน้ำตาลมะพร้าว 15 ครัวเรือน  โดยแต่ละครอบครัวมีสวนมะพร้าวของตนเอง  สมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มจะนำน้ำตาลสดที่ได้มาส่งที่กลุ่มและคนในบ้านที่ว่างงาน   ก็จะมาช่วยกันแปรรูปทำน้ำตาล (http://www.oknation.net/blog/print.php?id=388189, 2556) ต่อมาชาวบ้านเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาแห่งตำบลบางครก มีความสามารถในการทำน้ำตาลมะพร้าว และธุรกิจแปรรูปจากน้ำตาลมะพร้าว เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ ของตำบลบางครกจะเป็นสวนมะพร้าวประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพและมีรายได้จากการทำหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นมะพร้าว และได้จัดตั้งกลุ่มแปรรูปจากน้ำตาลมะพร้าว เมื่อปี พ.ศ. 2539 และจดทะเบียนพานิชเมื่อ ปี พ.ศ. 2542 เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่บ้าน ชุมชน ทั้งด้านวิชาการ และการประกันราคาจากพ่อค้าคนกลาง จุดเด่นของกลุ่มผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำตาลมะพร้าวบางหอที่นอกเหลือจากการมุ่งผลิตสินค้าที่มีคุณภาพคือการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตน้ำตาลมะพร้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกเกิดการออมและบริหารจัดการค่าใช้จ่ายตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยแบ่งปันรายได้ส่วนหนึ่งที่ได้รับจากการประกอบอาชีพผลิตน้ำตาลมะพร้าวมาเก็บออม และดอกผลที่ได้จากการเก็บออมได้มีการปันคืนสู่สมาชิกในรูปแบบของสวัสดิการต่างๆ ได้แก่ ทุนสนับสนุนด้านการศึกษา กิจกรรมวันเด็ก(สำหรับลูกๆสมาชิก) กิจกรรมปีใหม่ เงินช่วยค่าทำศพ เงินขวัญถุงคลอดบุตรใหม่ ฯลฯ โดยสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านบางหอ ส่งเงินสัจจะ ทุกวันที่ 3-4 ของทุกเดือน (https://www.facebook.com/ /pages/บ้านบางหอ-หมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบ, 2557)

3-30-2014 9-21-46 PM

8.ลักษณะมาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์/การให้บริการ

          ลักษณะออมทรัพย์เพื่อการผลิต(น้ำตาลมะพร้าว) การรวมกลุ่มอาชีพ

ผลิตภัณฑ์ “น้ำตาลเมืองเพชร” ในความหมายแล้วอาจจะหมายถึง “น้ำตาลโตนด” และมีความเชื่อกันว่าขนมหวานเมืองเพชร จากจังหวัดเพชรบุรี http://www.komchadluek.net/ detail/20100520/59872/เพชรบุรีเมืองหวานน้ำตาลโตนด.html#.Ux9KPj-Syaw, 2557) ซึ่งมีรสชาติอร่อย เพราะมีน้ำตาลโตนดเป็นวัตถุดิบ ทำให้ขนมเมืองเพชร มีรสชาติอร่อยกว่าขนมจากแหล่งผลิตที่อื่น แต่ในความเป็นจริงแล้วมีผู้ผลิตขนมหวานพื้นเมืองหลายราย ที่ใช้น้ำตาลมะพร้าวมาเป็นวัตถุดิบในการทำขนม เพราะหากเป็นน้ำตาลมะพร้าวของแท้ที่ไม่มีการเจือปนวัตถุอื่นๆ แล้ว จะมีรสชาติหวานมัน ทำอาหารคาวหวานอร่อย แต่ด้วยเหตุผลทางการตลาด ทำให้ผู้ผลิตขนมหวานพื้นเมือง เลี่ยงที่จะไม่กล่าวถึงส่วนประกอบนี้ (น้ำตาลมะพร้าว) เพราะกลัวผู้บริโภคไม่ยอมรับ

น้ำตาลมะพร้าวที่รู้จักกันดีของกลุ่มผู้ผลิตขนมหวานเมืองเพชร คือน้ำตาลมะพร้าวที่ผลิตในพื้นที่ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งชาวบ้านในตำบลนี้ได้ประกอบอาชีพทำตาลมะพร้าวนานหลายสิบปี ด้วยภูมิประเทศที่เหมาะสมต่อการปลูกมะพร้าว กล่าวคือเป็นบริเวณติดกับปากแม่น้ำมีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็มขึ้นถึงในบางฤดูกาล ชาวบ้านจึงนิยมปลูกมะพร้าวแบบยกร่องสวนคล้ายกับชาวบ้านใน จ.ติดชายทะเลอื่นๆ ทำให้ชาวบ้านในละแวกหมู่บ้านคลองน้ำเชี่ยว ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเขาย้อย ตลอดจนถึงบ้านบางหอ ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นหมู่ติดกัน ประกอบอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวแล้วมีรายได้ดี โดยทำสืบต่อกันมา

 

9.กระบวนการผลิต

การทำน้ำตาลมะพร้าวก็คล้ายกับการทำตาลโตนด..ตรงที่ชาวบ้านจะเลือกจั่นมะพร้าวขนาดพอเหมาะ ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป   โดยเลือกจั่น หรือวงที่มีอายุ ประมาณ 15 วัน  นับตั้งแต่จั่นเริ่มออก โดยตัดปลายวงห่างจากยอดแหลมของวง  ประมาณ  4 – 5  นิ้ว  ต่อจากนั้นก็ปาดรอยเดิม  ประมาณ  1 กระเบียด  วันละ  2  ครั้ง  เช้า – เย็น  แล้วค่อยโน้มงวงให้โค้งลงมาเพื่อสะดวกในการใช้ภาชนะรองน้ำตาล การรองน้ำตาล  รองได้เมื่อน้ำตาลเริ่มไหล หลังจากปาด  1  สัปดาห์  โดยใช้กระบอกใส่พะยอมหรือไม้เคี่ยมเพื่อป้องกันน้ำตาลเปรี้ยว ใช้มีดปาดปลายจั่นออก 3-4 นิ้วและกรีดกาบหุ้มโคนจั่นแล้วใช้เชือกโน้มจั่นให้ต่ำลงน้ำตาลจะไหลลงในภาชนะที่นำมารองไว้ (http://www.oknation.net/blog/krunoppol/2009/01/26/entry-1 , 2556)เมื่อได้น้ำตาลมาแล้ว  นำมารวมใส่กระทะเคี่ยวจนได้ที่  จากนั้นยกลงจากเตา กวนให้แห้ง จึงนำมาบรรจุใส่ปี๊บ  หรือทำเป็นปึกเพื่อส่งขายต่อ หรือนำน้ำตาลที่ผ่านการเคี่ยวทิ้งไว้หนึ่งคืนจึงน้ำตาลที่ได้ผ่านการเคี่ยวไปปั่นให้แห้ง (ปัจจุบันใช้มอเตอร์ปั่น)แล้วนำมาหยอดลงเบ้าที่มีผ้าขาวบางชุบน้ำไว้ รอจนแห้งก่อนนำมาบรรจุขายต่อไป

3-30-2014 9-22-47 PM

ผู้ใหญ่บ้านบางครก ผู้ใหญ่สายสุทธิ์ จันทร์เกิด        ผังแสดงการผลิตน้ำตาลมะพร้าวของกลุ่มผู้ผลิตบางครก

 3-30-2014 9-23-16 PM

10.องค์ความรู้ของแหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์/การดำเนินการ/การจัดตั้งกลุ่ม

บ้านบางหออยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเพชรบุรีมากนัก..ขับรถผ่านอำเภอเขาย้อยผ่านบ้านทับคาง แล้วเลี้ยวซ้ายมา ต.หนองปลาไหลข้ามทางรถไฟแล้ววิ่งตรงมาตามป้ายบอกทางก็จะถึง ต.บางหอ เนื่องจากมะพร้าวเป็นพืชน้ำกร่อย สามารถทนดินเค็มได้ดีจึงมีความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศที่ราบชายฝั่งทะเลของบ้านบางหอ โดยพบสวนมะพร้าวจำนวนมากบริเวณพื้นที่ติดคลองบางครก การทำสวนมะพร้าว รวมถึงการทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยมีขั้นตอนการปลูกทำสวนมะพร้าว การเก็บเกี่ยว และการทำน้ำตาลมะพร้าวการปลูกทำสวนมะพร้าว เริ่มตั้งแต่การคัดสรรพันธุ์มะพร้าว การปลูกมะพร้าวลักษณะเป็นสวนยกร่อง เหตุเพราะว่าต้นมะพร้าวต้องได้รับน้ำตลอดเวลาเพื่อให้ออกจั่นติดผลได้ตลอดปี โดยอาศัยการควบคุมปริมาณน้ำเข้าออกด้วยประตูน้ำ ในส่วนของการบำรุงดินนิยมใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากถ่านใบมะพร้าวซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลมะพร้าวการเก็บเกี่ยวน้ำตาล ในทุกขั้นตอนของการเก็บเกี่ยวน้ำตาลล้วนแต่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น มะพร้าวหลังจากปลูกได้ 5 ปี มะพร้าวก็จะออกงวง หรือออกดอก สามารถปาดเก็บน้ำตาลสดได้ จึงเก็บน้ำตาลสดมาเคี่ยวเป็นน้ำตาลปึก

น้ำตาลมะพร้าวจะทำในโรงเรือนเคี่ยวน้ำตาล ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสวนมะพร้าว การทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นการนำน้ำตาลใสที่เก็บมาเคี่ยวบนเตาเคี่ยวน้ำตาลจนงวดเป็นสีเหลืองนวลการทำโรงเรือนและเตาเคี่ยวน้ำตาลล้วนเป็นเทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้สืบทอดกันมา โดยมีลักษณะเป็นโรงเรือนหลังคามุงจาก มีเตาสำหรับเคี่ยวน้ำตาลประมาณ 3-5 ลูก เตาเคี่ยวตาลใช้วิธีก่ออิฐฉาบปูน และสร้างปล่องไฟสูงประมาณ 5 เมตร โดยที่ควันไฟในแต่ละเตาจะถูกระบายออกปล่องไฟทั้งหมด ไม่รบกวนผู้กำลังเคี่ยวน้ำตาล เชื้อเพลิงในการทำน้ำตาลมะพร้าวใช้วัตถุดิบในพื้นที่ได้ทุกชนิด ทั้งใบมะพร้าวลำต้น กะลา ซึ่งถือเป็นการใช้ทรัพยากรในพื้นที่คุ้มค่าอย่างไรก็ตามในปัจจุบันการผลิตน้ำตาลมะพร้าวมีความยากลำบากเพราะต้นมะพร้าวที่มีอายุมากจะมีลำต้นสูง ยากต่อการปีนขึ้นไปเก็บน้ำตาล รวมทั้งไม่มีผู้สืบทอดการทำน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิม เนื่องจากลูกหลานเลือกที่จะทำอาชีพอื่น อาจจะทำให้อาชีพการผลิตน้ำตาลมะพร้าวค่อย ๆ ลดน้อยลงไปในอนาคต

3-30-2014 9-24-25 PM

ปัญหาและอุปสรรค

ชาวสวนมะพร้าวกว่าหมื่นไร่ที่ ต.บางครก  อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ผวาเมื่อแมลงดำหนามอาละวาดหนัก กัดกินยอดมะพร้าววอดวายไปแล้วกว่า 4,000 ไร่ แมลงดำหนามที่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวจับได้จากยอดอ่อนของต้นมะพร้าวจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรอย่างหนัก เพราะใน ต.บางครก ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกมะพร้าวจำหน่าย แต่หลังจากที่แมลงดำหนามมารบกวน  ทำให้ต้นมะพร้าวทยอยแห้งและตายในที่สุด   เนื่องจากแมลงดำหนามได้ไข่ไว้ที่ยอดมะพร้าว พอเป็นตัวอ่อนก็จะดูดน้ำเลี้ยงที่ส่วนยอดทำให้ใบเหี่ยวแห้ง ไม่ออกจั่น ออกผลจึงส่งผลให้ผู้ประกอบการทำน้ำตาลมะพร้าวไม่มีน้ำตาลเพียงพอที่จะผลิตส่งให้ลูกค้า อีกทั้งมะพร้าวไม่ออกผลทำให้มะพร้าวแห้งที่เกษตรกรเก็บขายมีไม่มากเหมือนเช่นเคย นายประทุม สำราญรมย์ อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 174/1 หมู่ 5 ต.บางครก  เปิดเผยว่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนหนักจากแมลงดำหนาม เนื่องจากกัดกินยอดมะพร้าวเสียหายในระดับเกินกว่า 80% แล้ว โดยตนปลูกไว้เพื่อนำน้ำตาลที่ได้จากต้นมะพร้าวไปส่งต่อให้พ่อค้าที่ทำน้ำตาลมะพร้าวขาย    ตอนนี้ยอดมะพร้าวเริ่มแห้งเหี่ยว  ไม่ออกจั่นเหมือนก่อน ทำให้ได้น้ำตาลไม่เต็มที่ และที่กังวลก็คือต้นมะพร้าวกำลังจะตายหมดทั้งสวนจากการระบาดของแมลงดำหนาม ส่งผลให้นายมนตรี แสงจินดา ผู้ประกอบการทำน้ำตาลมะพร้าว เปิดเผยว่า ในระยะเวลาประมาณ 5 เดือนที่ผ่านมา(ปี 2552) ที่แมลงดำหนามระบาดใน ต.บางครก ทำให้ขณะนี้ไม่สามารถทำน้ำตาลมะพร้าวส่งให้ลูกค้าได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากเกษตรกรที่มีอาชีพรองน้ำตาลมาขายประสบปัญหา จึงได้ปะสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขด้วยวิธีที่ปลอดภัย โดยแมลงชนิดนี้ ชาวบ้านเชื่อว่ามาจากประเทศอินโดนีเซีย  และเชื่อว่าอาจจะติดมากับต้นปาล์มที่ถูกนำจากภาคใต้มาปลูกในพื้นที่ใกล้เคียง หรืออีกส่วนหนึ่งก็อาจจะติดมากับลูกมะพร้าวที่ชาวบ้านไปซื้อมาเพื่อกะเทาะเนื้อมะพร้าวจำหน่าย  ได้นำเรื่องไปแจ้งเกษตรอำเภอบ้านแหลมแล้วก็แนะนำให้ใช้แตนเบียน ซึ่งเป็นสัตว์ที่ทำลายแมลงดำหนามไปกำจัด แต่ไม่สามารถจะแก้ไขได้ แมลงดำหนามมีแต่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนขณะนี้สวนมะพร้าวใน ต.บางครก ซึ่งมีกว่า 1 หมื่นไร่ถูกแมลงดำหนามกันกินยอดไปเกินกว่า 80% แล้ว  จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาวิธีกำจัดหรือป้องกันให้ด้วย ด้านนายศักดิ์ชัย   วันทอง  เกษตรจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า  จากการสำรวจความเดือดร้อนของเกษตรกร พบว่าพื้นที่กว่า 4 พันไร่ถูกแมลงดำหนามเข้าทำลายเสียหายและกำลังแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง ได้ประสานให้เกษตรอำเภอบ้านแหลมช่วยเหลือด้วยการเพาะแตนเบียนกำจัด แต่ยังไม่มีงบประมาณ และช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงทำให้การเพาะเลี้ยงแตนเบียนเป็นไปได้ยาก การจะกำจัดด้วยยาฆ่าแมลงก็ไม่ดีเท่ากับกำจัดแบบธรรมชาติ และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค  เนื่องจากเมื่อนำน้ำตาลไปผลิตก็จะปนเปื้อนสารเคมี จึงไม่แนะนำให้ใช้กำจัด (http://www.ryt9.com/s/tpd/860879, 2552)

แมลงดำหนามมะพร้าวนี้เป็นศัตรูสำคัญของพืชตระกูลปาล์ม   พบระบาดรุนแรงในมะพร้าว ตัวเต็มวัยเป็นด้วงปีกแข็งลำตัวค่อนข้างแบน ขนาดยาวประมาณ 1 ซม. กว้าง 2-2.5 ซม. ส่วนหัวและท้องมีสีน้ำตาล อกเหลืองปนส้ม  ปีกมีสีดำ  มักซ่อนตัวอยู่ตามใบอ่อนหรือใบที่ยังไม่คลี่ ตัวเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวหรือเป็นแถว 2-4 ฟอง ใต้ใบที่ยังไม่คลี่ รูปร่างคล้ายแคปซูล มีขนสีน้ำปกคลุม ระยะไข่ประมาณ 5 วัน ฟักเป็นตัวหนอนตลอดอายุขัยตัวเมียสามารถวางไข่ได้ประมาณ 100 ฟอง  หนอนมีสีขาว บริเวณลำตัวมีลักษณะคล้ายหนามยื่นออกมา ปลายสุดของท้องมีหนามรูปร่างคล้ายคีมยื่นออกมา 1 คู่ หนอนมี  4 วัย ระยะหนอนประมาณ 30-40 วัน ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม มีปีก 2 คู่ ยาว 1 ใน 2 ของลำตัว หนอนที่เจริญเติบโตเต็มที่จะหยุดกินอาหารและเข้าดักแด้ในกาบใบมะพร้าว ระยะดักแด้ประมาณ 4-7 วัน.(หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ — ศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2552) จากการติดตามภาวะเรื่องการระบาดของแมงดำหนามพบว่าปัจจุบัน(ปี 2556) มีการระบาดที่ลดลงไปมากเนื่องจากชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแรงร่วมใจกันป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

3-30-2014 9-24-49 PM

11.ประเด็นที่เกี่ยวข้อง/สอดคล้อง กับการสืบสานโครงการพระราชดำริหรือแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

1.การผลิตน้ำตาลมะพร้าวคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

2.สมาชิกของกลุ่มเกิดการออมและบริหารจัดการค่าใช้จ่ายตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยแบ่งปันรายได้ส่วนหนึ่งที่ได้รับจากการประกอบอาชีพผลิตน้ำตาลมะพร้าวมาเก็บออม และดอกผลที่ได้จากการเก็บออมได้มีการปันคืนสู่สมาชิกในรูปแบบของสวัสดิการต่างๆ

3.การสืบทอดภูมิปัญญาการทำน้ำตาลมะพร้าวของบรรพบุรุษ

 

12. อื่นๆ เช่น แนวคิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

การปรับปรุงสถานที่ เตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวและคณะผู้ศึกษาดูงาน

Share and Enjoy

  • Facebook
  • Twitter
  • Delicious
  • LinkedIn
  • StumbleUpon
  • Add to favorites
  • Email
  • RSS

ใส่ความเห็น

อีเมล์ของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *


5 − = zero

คุณอาจจะใช้ป้ายกำกับและคุณสมบัติHTML: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>

ความร่วมมือมหาวิทยาลัยกลุ่มภาคตะวันตก

EmailEmail
PrintPrint