"พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนโครงการตลาดกลางสินค้าเกษตร เพชรบุรีโมเดล"


มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมพร้อมเดินหน้าโครงการ “เพชรบุรีโมเดล” 
เพื่อพัฒนาจังหวัดเพชรบุรีให้เป็นแหล่งการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน



         เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 14 กันยายน 2564 เวลา 14.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีพร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ให้การต้อนรับท่านอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนโครงการตลาดกลางสินค้าเกษตรเพชรบุรีโมเดล ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมทั้งมอบนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการ "เพชรบุรีโมเดล"

         สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ทุกหน่วยงานจะร่วมกันในการประสานความร่วมมือไปยังภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มาตรฐานและเป็นศูนย์กลางการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่เป็นตัวอย่างต้นแบบของการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรในมิติใหม่ “โมเดลเพชรบุรี” เป็นโมเดลตามแนวทางที่ท่านที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์  (นายอลงกรณ์ พลบุตร) ได้มอบไว้เมื่อการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564  จำนวน 12 แนวทาง ดังนี้

1.       การพัฒนากลุ่มคัสเตอร์ภาคการเกษตร ได้แก่ กลุ่มพืชเศรษฐกิจหลัก , กลุ่มปศุสัตว์ และ กลุ่มประมง

2.       การจัดทำฐานข้อมูล (Big Data) ข้อมูลสินค้าและปริมาณที่เกี่ยวข้องกับตลาดกลางการเกษตร

3.       การพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรทั้งออนไลน์และออฟไลน์

4.       การยกระดับตลาดกลางให้เข้าสู่มาตรฐาน GMP

5.       การพัฒนาธุรกิจตลาดกลางสินค้าเกษตรบนความร่วมมือของทุกภาคส่วน

6.       การส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร Organic Thailand / GAP / PGS

7.       การส่งเสริมระบบ Traceability การตรวจสอบย้อนกลับ

8.       การพัฒนา SME เกษตร ต่อยอดไปสู่หลักสูตร Local Hero

9.       การสร้าง Farm Branding และยกระดับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร

10.      การแปรรูปสินค้าค้าเกษตรโดยร่วมมือกับ สถาบันอาหาร สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน

11.      การส่งเสริมให้ตลาดกลาง  ผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร เกษตรกร มีความสามารถใน    การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดออนไลน์ เช่น Alibaba

           LAZADA , ThailandPostmart , Grab , Shopee เป็นต้น

12.      การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกภาคส่วน ได้แก่ บุคลากรภาครัฐ เกษตรกร ผู้ประกอบการ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคีเครือข่าย